ติวสอบเข้าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อยุธยา ครูสอนพิเศษ

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ติวสอบเข้าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อยุธยา ครูสอนพิเศษ
 ประวัติโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
สถาปนาโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า พ.ศ. 2448 – 2484
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า
ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ โดยทั่วกัน ยึดแบบอย่างของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยโรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย (จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2425) ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลในพระองค์ที่มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นนี้เพราะพระองค์มีพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา โดยมีความตอนหนึ่งว่า เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป จนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองนี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้ (พระบรมราชโองการฯ จัดตั้งโรงเรียนหลวงตามมณฑล ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2441) ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการปกครองส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้น โดยให้รวมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน 3-4 เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. 2438 โปรดให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี โดยมี พระยาโบราณบุรานุรักษ์ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลประจำมณฑล และได้สนองพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านจัดตั้งโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นใน ร.ศ. 123 หรือปี พ.ศ. 2448 โดยในระยะแรกใช้กุฏิพระ และศาลาวัดและบริเวณใกล้เคียงกับวัดเสนาสนาราม หลังพระราชวังจันทรเกษม เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน โดยเรียกชื่อว่า “โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า”

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2450 กระทรวงธรรมการเห็นว่าประชาชนนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนทำให้สถานที่เดิมคับแคบ จึงได้จัดสร้างอาคารเรียนแบบประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะถาวร 2 ชั้นแบบ 6 ห้องเรียนและห้องประชุมอีก 1 ห้อง ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้นเรียกชื่อโรงเรียนกันว่า “โรงเรียนหลังวัง” (ซึ่งตึกที่กระทรวงธรรมการได้สร้างนั้นต่อมาโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ขอใช้ตึกนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน เพราะโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยย้ายมาอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน)

เนื่องจากมณฑลกรุงเก่า ได้รับการยกย่องให้เป็นหัวเมืองเอกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นโรงเรียนจึงอยู่ในความสนใจของผู้ใหญ่และเจ้านายชั้นสูงตลอดมา จนทำให้โรงเรียนมีมาตรฐานการศึกษาอบรมสูงสมฐานะเมื่อ ร.ศ. 127 และในปีต่อ ๆ มานักเรียนของโรงเรียนทุกคนต้องไป ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ทุก ๆ ปี แม้ภายหลังจะยกเลิกเสีย แต่ก็ย่อมแสดงถึงฐานะของโรงเรียนเป็นอย่างดี ครู อาจารย์ และนักเรียนเก่าก็ล้วนแต่เป็นผู้มีวิทยาคุณและเกียรติอันควรคารวะทั้งสิ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา ซึ่งก็คือพระราชวังจันทรเกษม ในส่วนของตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย) และพระที่นั่งพิมานรัตยา แต่อาคารหลังอื่น ๆ ในพระราชวัง ทางโรงเรียนก็ได้ขอใช้ทำการเรียนการสอนต่อ แต่ก็ส่งผลทำให้สถานที่เล่าเรียนของโรงเรียนมีพื้นที่น้อยลง และในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก “มณฑลกรุงเก่า” เป็น “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยามีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหารการปกครองมากขึ้น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา[1] จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาลตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารส่วนอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2467 เปลี่ยนให้มณฑลต่าง ๆ นั้นเลื่อนฐานะเป็นจังหวัดแต่อยุธยายังคงเป็นมณฑลเทศาภิบาลอยู่ จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นผลทำให้โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ดังปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 พระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในปัจจุบัน

หลังจากที่เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่ามาเป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้วนั้น การเรียนการสอนก็เป็นไปอย่างราบรื่นและได้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด นับจากปี พ.ศ. 2448 จนถึงปี พ.ศ. 2483 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุถึง 35 ปี ที่ใช้อาคารเรียนอยู่ด้านหลังพระราชวังจันทรเกษม จนประชาชน ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงเรียนหลังวัง จนมีศิษย์เก่าสำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก และซึ่งศิษย์เก่ารุ่นแรก ๆ เหล่านี้เป็นบุคคลที่มีเกียรติอันควรคารวะ อาทิ

ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าศึกษาใน ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2455 และสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 134 หรือ พ.ศ. 2458 เลขประจำตัว 791

พลตรี พลเรือตรี นาวาอากาศเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าศึกษาใน ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2455 และสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 136 พ.ศ. 2460 เลขประจำตัว 640 สิ่งที่เป็นอนุสรณ์คือสร้างหอพระพุทธรูปและมอบทุนการศึกษา

พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ หรือหม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์ อดีตองคมนตรี สิ่งที่เป็นอนุสรณ์ คือ ตั้งทุนถาวรมอบให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

วิโรจน์ กมลพันธ์ อดีตธรรมการจังหวัดและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขประจำตัว 684

ชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย รวมทั้งครู อาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิอีกมากมายหลายท่าน ทำให้ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ให้การยอมรับและพร้อมใจกันส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นทุก ๆ ปีจนสถานที่นั้นคับแคบลงทุกปี

จนกระทั่งเมื่อ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 – พ.ศ. 2484) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร และได้มีแผนที่จะปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และได้เล็งเห็นว่า สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย แต่เดิมนั้นคับแคบ ไม่มีโอกาสขยายได้อีกเท่าที่ควร ซึ่งโดยความหวังของท่านศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้น มุ่งหวังที่จะให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมหาวิทยาลัยด้วย

ฉะนั้น เมื่อนายวิโรจน์ กมลพันธ์ นักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งดำรงตำแหน่งธรรมการจังหวัดในขณะนั้นได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องการย้ายสถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีความเห็นชอบด้วย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ซึ่งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงิน 1 แสนบาท และได้มีพระราชดำรัสตรัสสั่ง ให้จัดสร้างอาคารตึกถาวร 2 ชั้น 1 หลัง เป็นสถานศึกษาโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยที่แข็งแรง สง่างาม พร้อมกันนี้ยังได้จัดสร้างหอประชุมพระราชทานอีก 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลัง”

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 พระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในปัจจุบัน
จากนั้น ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้ หลวงบริหารชนบท ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้พิจารณาเลือกสถานที่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโชคดีของโรงเรียนที่จะได้ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมมาก โดยหลวงบริหารชนบทได้เสนอแผนการก่อสร้างสนองความประสงค์ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้รับการเห็นชอบ เพราะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เป็นโรงเรียนรัฐบาลของจังหวัด นอกจากนี้ยังสามารถขยายบริเวณออกไปให้กว้างขวางได้อีก ซึ่งความหวังของท่าน ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้น มุ่งหวังที่จะให้มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นด้วยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในอนาคต

หลวงบริหารชนบทได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “สถานที่ตั้งของโรงเรียนนี้เหมาะสมมาก โดยอยู่จุดกึ่งกลางของเกาะเมืองและมีบริเวณสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีปูชนียสถาน ซึ่งเหมาะสมกับสถานศึกษา ด้านหน้าของโรงเรียนก็เป็นที่ตั้งของ สวนสาธารณะบึงพระราม ด้านหลังก็เป็นถนนที่ตัดตรงมาจากกรุงเทพฯ มีสถานที่ราชการสองฝั่งถนน ซึ่งเหมาะสมในทุกๆด้าน”

งานก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2482 แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 โดยมีหลวงบริหารชนบท เป็นกรรมการควบคุมการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ยังได้ควบคุมงานก่อสร้างหอประชุมพระราชทานอีก 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลังด้วย และอาคารเรียนนั้นได้ทำพิธีเปิดอาคารเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 และเนื่องจากอาคารหลังนี้สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทีได้ทรงพระราชทานให้จัดสร้าง ครู อาจารย์ และนักเรียนตั้งแต่บัดนั้นจึงเรียกว่า “อาคารพระราชทาน”

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารนามว่า “สิริมงคลานันท์” ซึ่งยังคงความปลาบปลื้มมาแก่ชาวอยุธยาวิทยาลัยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ที่ได้ทรงพระราชทานนาม “สิริมงคลานันท์” มาให้ตราบเท่าทุกวันนี้

ภายหลังจากที่ทรงพระราชทานชื่ออาคาร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาทรงเป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร “สิริมงคลานันท์” และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรห้องพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาทั้ง 9 ห้อง บนอาคารสิริมงคลานันท์ รวมทั้งยังทรงปลูกต้นพิกุลไว้ด้านหน้าอาคารอเนกประสงค์ขณะที่กำลังก่อสร้างอยู่ด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานมอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ หอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นพะยอม และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงปลูกต้นประดู่กิ่งอ่อนไว้ด้านหน้าหอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 อีกด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งกว่าจะหาที่เปรียบได้ สร้างความปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งแก่พวกเราชาวอยุธยาวิทยาลัยและชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงทำให้การเรียนการสอนของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2486 – 2487 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยคุกคามจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และผลกระทบจากภัยสงครามก็ทำให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับภาระด้วย กล่าวคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขออาศัยใช้สถานที่เรียนเป็นการลี้ภัยชั่วคราว จึงทำให้นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการเรียนกันอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ครู อาจารย์ และนักเรียนก็เต็มใจและยินดี เพราะถือได้ว่าได้ให้ความช่วยเหลือเอื้ออารีที่ยิ่งใหญ่แก่เพื่อนร่วมชาติและแก่สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยอันสูงส่ง

เมื่อชาติบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติในยุคต่อ ๆ มา การเรียนการสอน การศึกษาของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้ขยายตัวอย่ารวดเร็ว มีอาคารเรียนถาวรเพิ่มขึ้นอีกหลายอาคาร ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่อีกหลายท่านที่ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาก จำนวนครูและนักเรียนก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงได้ถูกนำมาบรรจุเข้าไว้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน อย่างค่อนข้างพร้อมมูลในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ปัจจุบัน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการพัฒนาทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนได้รับเกียรติบัตรรางวัลพระราชทาน จำนวน 5 ครั้งด้วยกัน ดังนี้ พ.ศ. 2522, 2537, 2546, 2557, 2561

และยังมีนักเรียนของโรงเรียนที่ได้รับเกียรติบัตรรางวัลพระราชทานเช่นกัน ซึ่งได้รับในปี พ.ศ. 2526, 2527, 2546, 2549, 2551, 2557

ลำดับการเปลี่ยนชื่อโรงเรียน
โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า พ.ศ. 2448 – 2469
โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอยุธยา พ.ศ. 2469 – 2476
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พ.ศ. 2476 – ปัจจุบัน 
 
 
 สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน : เป็นตราสังข์ทักษิณาวัตร ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ภายในปราสาทใต้ต้นหมัน ซึ่งเป็นตราประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในวงกลมด้านในประดับด้วยลายกนก วงกลมด้านนอกเป็นสีแดงด้านบนเป็นชื่อโรงเรียนภาษาไทย ขั้นด้วยลายประจำยาม ส่วนด้านล้างเป็นชื่อโรงเรียนภาษาอังกฤษ แต่เดิมโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเคยใช้ตราพระปรมาภิไธยย่อ อปร. ภายใต้พระมหาภิชัยมงกุฎ ด้านล่างตราเป็นชื่อโรงเรียน “อยุธยาวิทยาลัย” บนแถบแพรโค้ง แต่ในปัจจุบันได้อัญเชิญตรานี้เป็นตราของสมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
 ชื่ออังกฤษ : Ayutthaya Wittayalai School
 อักษรย่อ : " อ.ย.ว. " , " A.Y.W. "
 ประเภท : โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ แบบสหศึกษา
 ค่านิยม : ตั้งใจเรียน เพียรทำดี มีวินัย รับใช้สังคม
 สีประจำโรงเรียน : ขาว-แดง
 เพลงประจำโรงเรียน : เพลงธง เพลงชาติเสือ
 ต้นไม้ประจำโรงเรียน : ต้นพะยอม
 ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกพะยอม 
 อัตลักษณ์ของโรงเรียน : ชาติเสือ หมายถึง ผู้ที่มีกำเนิดมาจากบรรพบุรุษที่มีแต่คนเก่ง กล้าหาญ
 เอกลักษณ์โรงเรียน : ภูมิใจสถาบัน มุ่งมั่นความเป็นเลิศ เทิดองค์อานันท์
 
 
 
 

 

 

 TutorBento.com รับสอนพิเศษที่บ้าน ครูสอนพิเศษ สอนพิเศษตัวต่อตัว ด้วยทีมติวเตอร์คุณภาพ


สมัครเรียนพิเศษที่บ้าน https://bit.ly/33zhwlN
สมัครเป็นติวเตอร์กับเรา https://bit.ly/3tAxUNL

 

 สนใจเรียนพิเศษที่บ้าน สนใจเรียนพิเศษตัวต่อตัว สนใจหาครูสอนพิเศษ สนใจกวดวิชา

 สนใจติวเตอร์สอนตัวต่อตัว สนใจติวเตอร์สอนที่บ้าน Click 


 Download ข้อสอบ O-NET ป6

 Download ข้อสอบ O-NET ม3

 Download ข้อสอบ O-NET ม6

 Download ข้อสอบ 9วิชาสามัญ

 Download ข้อสอบ PAT

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้